ทรู-ดีแทค

#หยุดผูกขาดมือถือ ติดเทรนด์ จับตา กสทช.ถกควบรวม “ทรู-ดีแทค”

#หยุดผูกขาดมือถือ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย

หลังมีรายงานว่า วันนี้ (12 ตุลาคม65) ใจความสำคัญการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทคจะถูกบรรจุในวาระประชุมของคณะกรรมการ กสทช.แล้ว แต่อาจยังลงมติไม่ได้ เพราะต้องศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศเพิ่มเติม
วันนี้ (12 ตุลาคม2565) แฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย หลังมีรายงานว่า ใจความสำคัญการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทคจะถูกบรรจุในวาระประชุมของคณะกรรมการ กสทช.ในวันนี้ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อนี้กว่า 80,000 ทวีต โดยมีความกังวลเกี่ยวกับการควบรวมของทรูและดีแทคที่อาจนำไปสู่การผูกขาดทางการตลาด เนื่องมาจากผู้ให้บริการที่เหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่ อาจดีลขึ้นราคาค่าบริการ จากที่ผ่านมามีผู้ให้บริการ 3 เจ้าทำให้มีการแข่งขันกันทั้งยังเชิงความสามารถและราคา

หยุดผูกขาดมือถือ ทรู-ดีแทค

สอดคล้องกับนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Somkiet Tangkitvanich ระบุว่า ประชาชนควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจากการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลเสีย ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น ร้อยละ 2-23 ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคา หรือ ฮั้วกัน ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคา อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 1.2 เท่า – 2.4 เท่า และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง ร้อยละ 0.5-0.6

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ กสทช. โดย พล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงานประจำประธาน กสทช.เป็นผู้มารับหนังสือ

หยุดผูกขาดมือถือ

ตัวแทนของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า ต้องการให้ กสทช.พิจารณาการควบรวมโดยด่วน เพราะผ่านมา 9 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีบทสรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งตามปกติต้องพิจารณาภายใน 90 วัน และความล่าช้าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคของทรูและดีแทค เพราะใช้บริการและโครงข่ายร่วมกันไม่ได้

ทั้งนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ประเมินว่า อาจเป็นการอนุญาตโดยมีเงื่อนไข ส่วนเข้มข้นหรือไม่จะต้องติดตามกันอีกรอบ พร้อมยกตัวอย่าง กรณีเงื่อนไขเข้มข้น จะให้ธุรกิจขายบางกิจการออกไป ถ้าไม่เข้มข้น ก็ยังให้ธุรกิจถือทรัพย์สินทุกอย่างเหมือนเดิม แต่จะกำกับพฤติกรรม